วิธีดูแลเมื่อลูกแมวท้องเสีย เข้าใจสาเหตุพร้อมวิธีป้องกัน

ปัญหาหนึ่งที่ชวนให้เจ้าของแมวปวดหัว คงหนีไม่พ้นปัญหาลูกแมวท้องเสีย เพราะเจ้าของแมวหลายคนอาจยังไม่รู้ว่าอาการท้องเสียหรือถ่ายเหลวในลูกแมวนั้นเกิดจากอะไร หรือควรจัดการอย่างไรบ้าง โดยเฉพาะอย่างยิ่งเจ้าของแมวมือใหม่ แต่อย่าเพิ่งตกใจหรือเป็นกังวลไป เพราะในบทความนี้ เรามีเรื่องน่ารู้เกี่ยวกับอาการท้องเสียในลูกแมวมาฝากกัน

 

 

สาเหตุที่ทำให้ลูกแมวท้องเสีย

1. โรคติดเชื้อยอดฮิตที่ทำให้ลูกแมวท้องเสีย

- เชื้อไวรัส

โรคติดเชื้อไวรัส นับเป็นสาเหตุต้น ๆ ที่ทำให้ลูกแมวเกิดอาการท้องเสียแบบรุนแรง โดยเฉพาะโรคไข้หัดแมว ที่ทำให้ลูกแมวมีไข้ เบื่ออาหาร ตามมาด้วยอาการอาเจียน และท้องเสียอย่างรุนแรง โดยเฉพาะลูกแมวอายุ 4 สัปดาห์ ถึง 1 ปี ที่มักพบอาการรุนแรงถึงขั้นเสียชีวิต

- พยาธิในทางเดินอาหาร

พยาธิที่พบได้บ่อยในลูกแมว ได้แก่ พยาธิไส้เดือน พยาธิปากขอ พยาธิตืดหมัด เป็นต้น โดย ลูกแมวสามารถติดพยาธิได้ทั้งจากสิ่งแวดล้อมและจากน้ำนมแม่ โดยเบื้องต้นคุณเจ้าของอาจสังเกตง่าย ๆ ว่า ลูกแมวติดพยาธิหรือไม่ จากรูปร่างที่แคระแกร็น ท้องกาง อาการอาเจียน ท้องเสีย (สามารถพบได้ทั้งท้องเสียแบบธรรมดา และท้องเสียแบบมีเลือดปน) และบางครั้งอาจพบพยาธิปนออกมากับอุจจาระได้

- เชื้อบิด

เชื้อบิด ถือเป็นอีกเชื้อที่ก่อปัญหาท้องเสียในลูกแมวได้ โดยทำให้ลูกแมวอ่อนแรง น้ำหนักลด แห้งน้ำ และท้องเสีย โดยหากลูกแมวติดเชื้อบิดจำนวนมาก และไม่ได้รับการรักษาอย่างถูกต้อง อาจถึงขั้นเสียชีวิตได้

- เชื้อโปรโตซัว

เชื้อโปรโตซัว ก็เป็นสาเหตุที่ทำให้ลูกแมวท้องเสียได้เช่นกัน โดยส่วนใหญ่จะพบว่าลูกแมวที่ติดเชื้อ มักมีประวัติถูกเลี้ยงในสถานที่ที่ค่อนข้างแออัด และมีสุขอนามัยที่ไม่ดีมาก่อน ลูกแมวกลุ่มนี้จึงมีความเสี่ยงสูงที่จะติดเชื้อจากการกินอาหาร หรือน้ำที่ปนเปื้อนเข้าไปนั่นเอ

 
2. อาหารที่ลูกแมวไม่ควรทาน

 

- การให้กินนมวัวอาจทำให้ลูกแมวท้องเสียได้นะ

เจ้าของหลายคนอาจยังเข้าใจผิดว่า ลูกแมวสามารถกินนมวัวได้ แต่รู้หรือไม่ว่าระบบทางเดินอาหารของลูกแมวนั้นสามารถย่อยนมวัวได้น้อยมาก เนื่องจากขาดเอนไซม์แล็กเทสที่จะไปย่อยน้ำตาลแล็กโทสในนมวัว ดังนั้นเมื่อลูกแมวกินนมวัว หรือผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนผสมของนมวัวเข้าไป จึงทำให้เกิดอาการท้องอืดหรือท้องเสียตามมาได้

- การแพ้อาหารในลูกแมว

ไม่ใช่แค่คนเท่านั้น แต่ในลูกแมวเองก็สามารถแพ้อาหารจนท้องเสียได้เช่นกัน เช่น การแพ้โปรตีนจากเนื้อสัตว์บางชนิด แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นอาการท้องเสียจากการกินอาหาร อาจไม่ได้หมายถึงการแพ้อาหารทั้งหมด แต่อาจเกิดจากการที่ลูกแมวไม่สามารถย่อยหรือดูดซึมอาหารชนิดนั้นได้อีกด้วย

- การเปลี่ยนอาหารทันที

การเปลี่ยนอาหารทันที ไม่ว่าจะเป็นการเปลี่ยนจากนมเป็นอาหารเม็ด หรือเปลี่ยนอาหารเม็ด จากยี่ห้อหนึ่งไปเป็นอีกยี่ห้อหนึ่ง ล้วนแต่มีส่วนทำให้ลูกแมวเกิดความเครียด จนส่งผลเสียต่อสุขภาพโดยรวม ทำให้ระบบทางเดินอาหารของลูกแมวเสียสมดุล จนมีอาการท้องเสียในที่สุด

3. ความเครียด

ใครจะคิดว่า ความเครียด ก็เป็นสาเหตุสำคัญของอาการท้องเสียในลูกแมวเช่นกัน ไม่ว่าจะเป็นความเครียดจากการย้ายที่อยู่ การรับแมวตัวใหม่ หรือรับคนแปลกหน้าเข้ามาในบ้าน การเปลี่ยนอาหาร หรือการถูกกระตุ้นโดยสภาพแวดล้อมที่แออัดหรือเสียงดัง เป็นต้น และความเครียดเหล่านี้ยังส่งผลต่อเสียต่อพฤติกรรม และสุขภาพลูกแมวตามมา

 

วิธีป้องกันไม่ให้ลูกแมวท้องเสีย

หลังจากที่เราทราบสาเหตุของอาการท้องเสียในลูกแมวกันไปแล้ว ว่าส่วนใหญ่เกิดจาก 3 สาเหตุหลัก ๆ ได้แก่ โรคติดเชื้อ อาหารที่ไม่เหมาะสม และความเครียด ต่อมาในส่วนนี้มาดูกันว่า เราจะช่วยป้องกันและดูแลลูกแมวที่ท้องเสียหรือถ่ายเหลวได้อย่างไรบ้าง

1. ทำวัคซีนและถ่ายพยาธิตามโปรแกรมที่สัตวแพทย์กำหนด

ต้องบอกเลยว่าอาการท้องเสียจากโรคติดเชื้อไวรัสนั้น ไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ ทำได้เพียงรักษาแบบประคับประคองอาการเท่านั้น แต่คุณเจ้าของอย่าเพิ่งตกใจไป เพราะโรคติดเชื้อเหล่านี้สามารถป้องกันได้ไม่ยาก เพียงแค่คุณพาลูกแมวไปทำวัคซีนตามโปรแกรมที่สัตวแพทย์กำหนด ตั้งแต่อายุ 2 เดือน อีกทั้งยังควรถ่ายพยาธิในลูกแมวตั้งแต่อายุ 1 เดือนเป็นต้นไป รวมถึงควรถ่ายพยาธิในแม่แมวเป็นประจำ เพราะอย่าลืมว่าพยาธิบางชนิดสามารถติดต่อมายังลูกแมวทางน้ำนมได้

2. เลือกอาหารให้เหมาะสมกับวัยของลูกแมว

ลูกแมวที่อายุตั้งแต่ 3 สัปดาห์ถึง 1 ปีนั้น มีความต้องการโปรตีนสูง เพื่อเอาไปใช้ในการสร้างกล้ามเนื้อ และการเจริญเติบโตส่วนอื่น ๆ นอกจากนี้ยังต้องการ DHA ไปช่วยเสริมสร้างพัฒนาการของสมองและการมองเห็น และต้องการแคลเซียมและฟอสฟอรัส ไปช่วยเรื่องการพัฒนาของกระดูกและข้อต่อ ดังนั้นการเลือกอาหารสูตรสำหรับลูกแมวโดยเฉพาะจึงเป็นสิ่งสำคัญ 

3. เปลี่ยนอาหารลูกแมวอย่างระมัดระวัง

ในช่วงที่ลูกแมวกำลังหย่านมนั้น หนึ่งสิ่งที่สำคัญควรทำ คือการฝึกให้ลูกแมวคุ้นเคยกับอาหารใหม่ก่อนที่จะเปลี่ยนอาหาร โดยคุณเจ้าของสามารถอ่านขั้นตอนการเปลี่ยนอาหารลูกแมวอย่างละเอียดได้ที่ ให้อาหารลูกแมวยังไง เติบโตสมวัยแข็งแรง นอกจากนี้ในการเปลี่ยนอาหารทุกครั้ง ควรใช้เวลาอย่างน้อยหนึ่งสัปดาห์ เพื่อให้แมวได้ปรับตัว และลดความเครียดจากการกินอาหารใหม่ โดยแนะนำให้เริ่มด้วยการผสมอาหารใหม่ลงไปในอาหารเก่าในปริมาณเล็กน้อย แล้วค่อย ๆ เพิ่มอัตราส่วนเข้าไป จนกระทั่งแมวสามารถเปลี่ยนไปกินอาหารใหม่ได้อย่างสมบูรณ์

4. ลดความเครียดให้ลูกแมว

วิธีดูแลและการจัดการความเครียดให้น้องแมวที่ได้ผลที่สุด คือ การแก้ไขที่ต้นเหตุ ถ้าเรารู้ว่าอะไรคือสิ่งกระตุ้นที่ทำให้ลูกแมวเครียด ก็ต้องพยายามเลี่ยงไม่ให้เขาอยู่กับสิ่งนั้น เช่น จัดพื้นที่ให้ลูกแมวได้อยู่ในที่ที่สบายใจ เพิ่มจำนวนกระบะทรายหรือชามอาหาร เพิ่มของเล่นต่าง ๆ ภายในบ้าน การชวนเล่น หรือทำกิจกรรมที่เขาชอบ และบางครั้งอาจให้ขนมหรืออาหารที่อร่อยเป็นรางวัลตอบแทน

จากที่เล่ามาทั้งหมด เราจะเห็นแล้วว่า อาการท้องเสียหรือถ่ายเหลวในลูกแมวนั้นเกิดได้จากหลายสาเหตุ ดังนั้นคุณเจ้าของจึงควรหมั่นสังเกตอาการผิดปกติให้ดี โดยหากพบว่าลูกแมวมีอาการท้องเสีย หรืออาการผิดปกติอื่น ๆ ควรพาไปพบสัตวแพทย์ทันที เพื่อทำการวินิจฉัยและรักษา แต่เหนือสิ่งอื่นใดอย่าลืมว่าคุณต้องคอยดูแลสุขภาพด้านอื่น ๆ ควบคู่ไปด้วยเสมอ โดยเฉพาะด้านโภชนาการ อย่าลืมเลือกอาหารลูกแมวที่มีคุณค่าทางอาหารครบถ้วน ที่จะช่วยให้ลูกแมวของคุณ มีสุขภาพกายและสุขภาพใจที่สมบูรณ์แข็งแรง

 

ขอบคุณข้อมูลจาก https://www.purinaone.co.th/article/diarrhea-cat-treatment




Visitors: 75,699